วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การทาบกิ่ง

การทาบกิ่ง 


       การทาบกิ่ง คือ การนำต้นพืช  2  ต้น ซึ่งเป็นต้นชนิดเดียวกันและมีระบบรากมาเชื่อมต่อกิ่งกันโดยต้นตอที่นำมาทาบกิ่ง จะทำหน้าทีเป็นระบบรากอาหารให้กับต้นพันธุ์ดี เมื่อเกิดการประสานของตัวกิ่งทั้งสองแล้ว จึงตัดกิ่งพันธุ์ดีออก เหลือเป็นต้นตอของพันธุ์หนึ่ง และยอดพันธุ์ดีเป็นของอีกพันธุ์หนึ่ง
       พืชที่นิยมขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่งเช่น  มะขาม  มะม่วง  ทุเรียน  ขนุน  เงาะ  ลำไย
วิธีการทาบกิ่ง แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 
1. การทาบกิ่งแบบประกบ มี  3  แบบคือ
       1.1 วิธีทาบกิ่งแบบฝานบวบ
       1.2 วิธีการทาบกิ่งแบบเข้าลิ้น
       1.3 วิธีทาบกิ่งแบบพาดร่อง
2. การทาบกิ่งแบบเสียบ มี  3  แบบคือ
       2.1 การทาบกิ่งแบบฝานบวบแปลง
       2.2 การทาบกิ่งแบบเข้าบ่าขัดหลัง
       2.3 การทาบกิ่งแบบเสียบข้างแปลง        
ซึ่งในที่นี้ขอนำเสนอวิธีการทาบกิ่งแบบฝานบวบ  ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้

การทาบกิ่งแบบฝานบวบ

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทาบกิ่ง
       1. มีดบางหรือมีดที่ใช้สำหรับขยายพันธุ์
       2. กรรไกรตัดแต่งกิ่ง
       3. แผ่นพลาสติกขนาด ๐.๕ x ๑๒ นิ้ว หรือเทปพลาสติกสำเร็จรูปเป็นม้วน
       4. ต้นตอหรือตุ้มทาบ
       5. เชือกหรือลวด 
ขั้นตอนการปฏิบัติมีดังนี้
       1. เตรียมต้นตอได้จากการเพาะเมล็ด การชำ หรือการตอน โดยใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา ต้นตอที่นำมาใช้ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร หรือ เท่าแท่งดินสอ และ การเลือกกิ่งพันธุ์ ควรเป็นกิ่งที่ตั้งตรงหรือเอียงเล็กน้อย เป็นกิ่งที่สมบูรณ์ไม่เป็นโรคและแมลงรบกวน
       2. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เป็นรูปโล่
       3. เฉือนต้นตอเช่นเดียวกันกับกิ่งพันธุ์ดี
       4. นำต้นตอประกบแผลบนกิ่งพันธุ์ดี
       5. พันผ้าพลาสติกให้แน่น
       6. ผูกเชือกหรือลวดยึดถุงต้นตอกับกิ่งพันธุ์ดีให้แน่น
       7. เมื่อทาบกิ่งเสร็จแล้วทิ้งไว้ประมาณ  30-45  วัน  เพื่อให้แผลติดสนิทและให้ตัดยอดต้นตอทิ้งไป
       8. ควั่นกิ่งพันธุ์ดีใต้รอยต่อ  หลังจากนั้นประมาณ  2  สัปดาห์ตัดลงจากต้นพันธุ์ดีได้

เคล็ดไม่ลับของการทาบกิ่ง
การปฏิบัติดูแลหลังจากทำการทาบแล้ว
       1. ควรให้น้ำแก่ต้นแม่พันธุ์กิ่งพันธุ์ดีอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับสังเกตดูน้ำในตุ้มทาบที่ทาบแบบประกับซึ่งมักจะแห้งจึงต้องให้น้ำโดยการใช้หัวฉีดฉีดน้ำเข้าไปในถุงตุ้มทาบบ้างในบางครั้ง แต่สำหรับตุ้มทาบแบบเสียบมักจะไม่พบปัญหาตุ้มทาบแห้งเท่าใดนัก ยกเว้นทำการทาบในฤดูแล้ง
       2. กรณีที่ส่วนยอดกิ่งพันธุ์ดีหลังจากทาบแล้วมีโรคและแมลงเข้าทำลาย ควรกำจัดโดยการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรค 
และแมลง
       3. กรณีที่มีพายุหรือฝนตกหนักต้องหาไม้มาช่วยพยุงหรือค้ำกิ่งไว้เพื่อไม่ให้กิ่งพันธุ์ที่ทำการทาบหักได้
       4. กรณีที่ทำการทาบหลายตุ้มในกิ่งเดียวกันควรต้องหาไม้ค้ำ หรือเชือกโยงไว้กับลำต้นเพื่อไม่ให้กิ่งใหญ่หักเสียหาย 

ลักษณะของกิ่งทาบที่สามารถตัดไปชำได้
       1. กิ่งทาบมีอายุประมาณ ๔๕-๖๐ วัน
       2. สังเกตรอยแผลของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีว่าประสานกันดี เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและนูน
       3. กระเปาะหรือตุ้มทาบีความชื้นพอประมาณณ (ค่อนข้างแห้ง)
       4. กระเปาะหรือตุ้มทาบมีรากเจริญออกมาใหม่เห็นชัด รากเป็นสีน้ำตาลและปลายรากมีสีขาว 

วิธีการตัดกิ่งทาบ
       ให้ตัดกิ่งพันธุ์ดีตรงระดับก้นกระเปาะหรือตุ้มทาบ เพื่อสะดวกในการย้ายชำและช่วยทำให้รอยต่อของแผลไม่หักหรือฉีกเนื่องจากน้ำหนักของส่วนยอดพันธุ์ดี เพราะส่วนโคนกิ่งพันธุ์ดีที่ยาวเลยรอยแผลจะช่วยพยุงน้ำหนักของส่วนปลายยอดพันธุ์ดี

การชำกิ่งทาบ
       เมื่อตัดกิ่งทาบจากต้นพันธุ์ดี ให้นำมาแกะเอาถุงพลาสติกออก แล้วชำลงในถุงพลาสติกสีดำขนาด  8x10  นิ้ว หรือกระถางดินเผาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว ที่บรรจุด้วย ขุยมะพร้าวล้วน ๆ หรือดินผสม ปักหลักและผูกเชือกกิ่งทาบให้แน่น นำเข้าพักไว้ในโรงเรือนที่ร่ม รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วันหรือจนกิ่งพันธุ์ดีเริ่มแตกใบใหม่ จึงนำไปปลูกหรือจำหน่ายได้ สำหรับการชำกิ่งพันธุ์ดีที่ทิ้งใบง่าย เช่น ขนุน กระท้อน ควรพักไว้ในโรงเรือนที่มีความชื้นสูง เช่น กระโจม พลาสติก หรือโรงเรือนระบบพ่นหมอก จะช่วยลดปัญหาการทิ้งใบของพืชนั้นลงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น